แท้จริงการเข้าสู่อาชีพทนายความมิใช่ว่าจบการศึกษาแล้วจะเป็นทนายความได้ทันที จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างน้อย 2 ปี ด้วยเหตุนี้การประกอบอาชีพทนายความของผู้เขียน จึงได้นำประสบการณ์ บทเรียน และข้อสรุปมากมาย มาเขียนหนังสือเล่มนี้ขี้น เพื่อเป็นหลักปฎิบัติให้แก่ทนายความร่วมสำนักในรุ่นหลังๆ จึงเริ่มเขียนเป็นตอนๆ ก่อน แล้วเผยแพร่ให้ศึกษากันภายในสำนักงาน จนกระทั้งถึงปีพุทธศักราช 2523 ก็มีเนื้อหามากพอที่จะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มได้ จึงได้จัดพิมพ์ หนังสือ “ว่าด้วยการสืบพยาน” เป็นครั้งแรกขึ้นในปีนั้น
อันกฎหมายนั้นย่อมมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2523 จึงเกาะเกี่ยวอยู่บนพื้นฐานของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในขณะนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้เหมาะสมกับกาลสมัยอีกหลายครั้ง เป็นเหตุให้การจัดพิมพ์หนังสือ “ว่าด้วยการสืบพยานในครั้งถัดๆ มาต้องปรับปรุงแก้ไขในบางเรื่องเพื่อให้สอดคล้องและไปกันได้กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่
แต่ทว่าวันเวลาของคนเรานั้นย่อมล่วงไปๆ ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน เมื่อผ่านวันเวลามามากเข้าก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตรวจสอบปรับปรุงในรายละเอียดได้เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นในการจัดพิมพ์ครั้งที่ 5 นี้จึงได้มอบหมายให้คุณนราธิป เทพานนท์ ศิษย์ร่วมสำนักธรรมนิติ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นนักกฎหมายรุ่นหลังมากแล้วที่ผมมีโอกาสอบรมบ่มเพาะด้วยตนเอง ได้ช่วยปรับปรุงข้อปลีกย่อยบางประการเพื่อให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงขอขอบคุณคุณนราธิป เทพานนท์ และทีมงานที่ได้ช่วยกันปรับปรุงหนังสือ ว่าด้วยการสืบพยานเล่มนี้ ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในบัดนี้แล้ว
จึงเป็นที่หวังได้ว่าแม้จะมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จนทำให้วิธีพิจารณาแตกต่างไปจากอดีตมากมาย แต่หลักการใหญ่ๆ ในการประกอบอาชีพทนายความและในการทำหน้าที่ทนายความนั้น ยังคงมีความสมบูรณ์และเป็นปัจจุบันอยู่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ในครั้งที่ 5 นี้ จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านตามสมควร