ภายใต้เงาของสหรัฐอเมริกาและบริบทสงครามเย็น "หมู่บ้าน" และ "ชนบท" ในประเทศโลกที่ 3 โดยเฉพาะประเทศไทย เริ่มถูกจัดวางในแผนที่ ถูกจินตนาการ และถูกประดิษฐ์ภาพแทนขึ้นใหม่ ในโครงการปฏิรูปชนบทเพื่อสร้างรัฐประชาชาติและป้องกันคอมมิวนิสต์ หมู่บ้านจึงกลายมาเป็นการจัดประเภทที่ถูกวัดประเมินและผลิตซ้ำได้ เป็นหน่วยที่มีอิสระในตัวเองและมีเอกภาพ ก่อนที่ความตื่นตัวในการศึกษาหมู่บ้านและชนบทเหล่านี้จะนําไปสู่การสถาปนา "ชนบทศึกษา" รวมไปถึงอุตสาหกรรมการวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ถูกขับดันไปด้วยวาระทางการเมือง
เป้าหมายของหนังสือ "เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น" เล่มนี้ ไม่ใช่การปฏิเสธหรือต้องการผลักไสมรดกทั้งหมดของอาณานิคมหรือจักรวรรดินิยมอเมริกัน แต่มุ่งไปที่การวิพากษ์และเปิดเผยให้เห็นลักษณะของความรู้ทางมานุษยวิทยาของไทยยุคบุกเบิก ที่ไม่อาจแยกขาดจากสงครามเย็น ทั้งในฐานะบริบททางประวัติศาสตร์และในฐานะโลกทัศน์ทางสังคมการเมือง